โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง,โรคผิวหนังอักเสบ

โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (Atopic Dermatitis) เป็นโรคผิวหนังอักเสบ พบบ่อยที่สุดโรคหนึ่ง พบได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ – สาเหตุ อาการและแนวทางการดูแลรักษา

อ่านแล้ว 3 นาที
แสดงบทความเพิ่มเติม
โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง,โรคผิวหนังอักเสบ

โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (Atopic Dermatitis) ปัญหาที่มักมีจุดเริ่มต้นจากกระบวนการสร้างผิวหนังที่ผิดปกติ ทำให้เกิดอาการผิวหนังแห้งแดง อักเสบ คันเกามากจนเกิดแผลถลอก และมีผิวหนังหนา การเกิดผื่นภูมิแพ้ผิวหนังนั้นมีสาเหตุและปัจจัยที่กระตุ้นให้แสดงอาการได้หลายอย่าง และพบสัมพันธ์กับปัจจัยอื่น ๆ ได้แก่ ระบบภูมิต้านทานของร่างกาย มีอาการระคายเคือง และหรือแพ้ต่อสารในสิ่งแวดล้อมรอบตัว เพื่อให้มีการดูแลรักษาผิวที่มีอาการผื่นภูมิแพ้ผิวหนังได้อย่างถูกวิธี มาเริ่มต้นทำความรู้จักอาการผื่นภูมิแพ้ผิวหนังไปพร้อมๆกัน

​​โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (Atopic Dermatitis) คืออะไร?

โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (Atopic Dermatitis) เป็นโรคผิวหนังอักเสบเรื้อรังที่พบได้บ่อย พบประมาณร้อยละ 10-17 ในเด็ก ในขณะที่ผู้ใหญ่มีโอกาสพบร้อยละ 9-15 อาการของโรคที่สำคัญคือ มีผิวหนังแห้งแดงอักเสบ มีอาการคันมาก ผิวหนังจะไวต่อสิ่งกระตุ้นภายนอกจึงทำให้มีผื่นขึ้นและมีอาการกำเริบเป็นระยะ ๆ

 

โรคนี้เป็นโรคเรื้อรังที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยรวมทั้งผู้ปกครองที่ดูแลผู้ป่วย

โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง,โรคผิวหนังอักเสบ

สาเหตุของ โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง

ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังนี้ แต่เชื่อว่าเกิดจากหลายปัจจัยร่วมกัน ได้แก่ พันธุกรรม เด็กที่ป่วยเป็นโรคนี้มักมีพ่อแม่หรือญาติใกล้ชิดเป็นโรคในกลุ่มภูมิแพ้ เช่น หอบหืด แพ้อากาศ และผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง ร่วมกับโครงสร้างของผิวหนังที่ไม่สมบูรณ์ และการเปลี่ยนแปลงของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย

 

เมื่อผิวหนังไม่สมบูรณ์แข็งแรง สารระคายเคืองและสารก่อการแพ้จะผ่านเข้าสู่ผิวได้ง่าย ทำให้เกิดผื่นผิวหนังแห้ง แดง อักเสบ เป็นเหตุให้ผู้ป่วยเกิดอาการคันและเกามากจนเกิดการติดเชื้อที่ผิวหนังได้บ่อย

ปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดการกำเริบของ โรคภูมิแพ้ผิวหนัง

  1. พันธุกรรม: หากพบว่าบิดาหรือมารดามีประวัติโรคภูมิแพ้ จะพบความเสี่ยงของโรคเพิ่มขึ้น 2 เท่า
  2. โครงสร้างผิวหนังไม่สมบูรณ์
  3. การเปลี่ยนแปลงของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย
  4. ปัจจัยที่กระตุ้นให้ผื่นกำเริบ ได้แก่
  • การสัมผัสสารระคายเคือง/สารก่อการแพ้
  • อากาศร้อนหรือหนาวเกินไป
  • การติดเชื้อ ทั้งแบคทีเรีย ไวรัส และเชื้อรา
  • การแพ้อาหาร
  • สารก่อภูมิแพ้ในอากาศ เช่น ไรฝุ่น ขนสุนัขหรือแมว
  • ความเครียด
  • มลภาวะและสภาพสิ่งแวดล้อม
  • เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือบุหรี่

อาการของ โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง

มีลักษณะผิวแห้ง ผื่นแดงสากอักเสบ คันเกาเป็น ๆ หาย ๆ และมีตำแหน่งการกระจายของรอยโรค

  • ในวัยทารกและเด็กเล็กมักเป็นที่บริเวณใบหน้า ซอกคอ และด้านนอกของแขน ขา มือ เท้า
  • ในเด็กโตหรือผู้ใหญ่ มักพบที่ข้อพับแขนขา คอ ข้อพับของแขนและขาทั้ง 2 ข้าง มีอาการคันมากและเกาจนเป็นผื่นหนา แข็ง นูน โดยมักพบที่บริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า และใบหน้าได้บ่อยในวัยผู้ใหญ่

 

สามารถแบ่งระยะของอาการแสดงของโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังเป็น 2 ระยะ ได้แก่

 

1. ระยะที่ผื่นกำเริบ

ผู้ป่วยมักจะมีอาการคันทำให้เกิดการติดเชื้อของผิวหนังจากการเกา และอาการคันเป็นเหตุให้เกิดการเกาทั้งช่วงเวลากลางวันและกลางคืน มักทำให้นอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ ซึ่งส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย

 

2. ระยะสงบ

ระยะที่อาการผู้ป่วยเริ่มดีขึ้นแล้ว มีผื่นกำเริบและอาการคันเกาลดลง

แนวทางการรักษา ผู้ป่วยโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง1

การรักษาผู้ป่วยโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังอย่างเหมาะสม สามารถช่วยป้องกันการกำเริบของผื่น โดยมีเป้าหมาย คือ พยายามควบคุมอาการต่าง ๆ ของโรคไม่ให้กำเริบ และอยู่ในช่วงสงบนานที่สุดจนกว่าโครงสร้างของผิวหนังจะค่อย ๆ ดีขึ้น

 

คำแนะนำทั่วไป ได้แก่

  1. หลีกเลี่ยงการใส่เสื้อผ้าเนื้อหนาที่อาจก่อให้เกิดอาการระคายเคือง เช่น ผ้าขนสัตว์ หรือผ้าใยสังเคราะห์ ชนิดของผ้าที่เหมาะสม คือ ผ้าฝ้าย
  2. หลีกเลี่ยงบริเวณที่มีอากาศร้อนจัด และหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นต่าง ๆ
  3. หลีกเลี่ยงการเกาหรือการสัมผัสสารก่อการแพ้และสารระคายเคือง

 

วิธีการอาบน้ำ

  1. ไม่ควรอาบด้วยน้ำอุณหภูมิร้อนจัด และไม่ควรใช้เวลาอาบน้ำนานเกินไป
  2. ควรเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่อ่อนโยนต่อผิวมีความเป็นกรดด่าง (pH) ประมาณ 4-6 ไม่มีส่วนประกอบของน้ำหอม และควรเป็นผลิตภัณฑ์ที่ช่วยเสริมเกราะปกป้องผิวอย่างอ่อนโยน
  3. ควรหลีกเลี่ยงการทำให้ผิวแห้ง และเกิดการระคายเคืองผิวหนัง
  4. หลังจากอาบน้ำ แนะนำให้ผู้ป่วยซับตัวหมาด ๆ แล้วทาสารให้ความชุ่มชื้นทางผิวหนังทันทีภายหลังการอาบน้ำเพื่อให้เก็บความชุ่มชื้นของผิวหนังได้มากที่สุด
  5. ควรหลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่มีส่วนผสมของสารฆ่าเชื้อแบคทีเรีย เพราะอาจทำให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวหนัง และทำให้เสียสมดุลของจุลชีพบนผิวหนังได้

 

สารให้ความชุ่มชื้นทางผิวหนัง (moisturizer)

การทาสารให้ความชุ่มชื้นทางผิวหนัง เป็นพื้นฐานที่สำคัญในการรักษาโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง ควรเพิ่มความชุ่มชื้น ด้วยการเติมเต็มสารไขมันที่จำเป็นสำหรับผิว และเสริมเกราะปกป้องผิว ทำให้ผิวหนังแข็งแรงสมบูรณ์อย่างต่อเนื่อง เมื่อผู้ป่วยมีผิวหนังที่แข็งแรงจะทำให้ความรุนแรงของโรคลดลง และลดโอกาสการกลับมาเป็นซ้ำของโรค รวมถึงจะสามารถช่วยลดการใช้ยาทาสเตียรอยด์เพื่อต้านการอักเสบด้วย

 

โดยปกติจะแนะนำให้ผู้ป่วยทาสารให้ความชุ่มชื้นทางผิวหนังอย่างน้อยวันละ 2 ครั้งหลังอาบน้ำภายในระยะเวลาประมาณ 3-5 นาที เพื่อให้เก็บความชุ่มชื้นในผิวหนังและสามารถทาเสริมได้เมื่อมีความแห้งของผิวหนัง

 

ในช่วงที่ระยะโรคมีผื่นกำเริบผู้ป่วยมันจะมีอาการคัน แนะนำให้ใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณสมบัติช่วยลดอาการคันและเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิวหนัง และควรใช้อย่างต่อเนื่องในช่วงระยะสงบเพื่อทำให้ผิวหนังแข็งแรง และช่วยลดการกำเริบของโรค

การพิจารณาเลือกผลิตภัณฑ์ ที่ให้ความชุ่มชื้นทางผิวหนัง

  1. ผลิตภัณฑ์ที่มีสารเพิ่มความแข็งแรงของผิวหนัง เช่น ไขมันระหว่างเซลล์ผิวหนังที่เรียกว่า เซราไมด์ (ceramide) หรือกรดไขมันที่จำเป็น เช่น โอเมกา 6 แฟตตีแอซิด (omega-6 fatty acid) เนื่องจากผู้ป่วยโรคผื่นภูมิแพ้จะมีการขาดกรดไขมันบางชนิด
  2. ผลิตภัณฑ์ที่มีสารต้านการอักเสบ และลดอาการคัน เนื่องจากอาการคันนำมาสู่การเกา ทำให้ผู้ป่วยผื่นภูมิแพ้ผิวหนังมีอาการกำเริบ
  3. ผลิตภัณฑ์มีผลวิจัยทางการแพทย์ว่า มีประสิทธิภาพที่ดีต่อการรักษาโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง
  4. ผลิตภัณฑ์สูตรอ่อนโยน ปราศจากน้ำหอม และสารระคายเคือง เช่น พาราเบน สี สารกันบูดที่เป็นอันตราย
  5. มีเนื้อผลิตภัณฑ์ที่เหมาะกับผิวของผู้ป่วยและสภาพอากาศ เช่น ถ้าผิวแห้งมากหรือในฤดูหนาว แนะนำในรูปแบบครีมในลักษณะข้นหรือขี้ผึ้งที่สามารถเคลือบปกป้องผิวได้ดีกว่า

สารให้ความชุ่มชื้นทางผิวหนังที่เหมาะสม ควรมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้

 

ทำให้โครงสร้างผิวหนังแข็งแรง และมีความชุ่มชื้นมากขึ้น

  • สารเซราไมด์ (ceramide) และโอเมกา 6 แฟตตีแอซิด (Omega-6 fatty acid) จะเข้าไปแทรกอยู่ไขมันระหว่างเซลล์ผิวชั้นหนังกำพร้า ช่วยให้โครงสร้างผิวหนังแข็งแรงขึ้น
  • สารกลูโคกลีเซอรอล (gluco-glycerol) จะเข้าไปแทรกอยู่ระหว่างเซลล์ของผิวชั้นหนังกำพร้า ทำให้การดูดซึมน้ำจากภายในผ่านเข้าสู่ผิวได้ดีขึ้น และทำให้ผิวหนังชุ่มชื้นขึ้น

 

ลดอาการอักเสบและการระคายเคืองของผิวหนัง

  • สารสกัดของบิสซาโบลอล (bisabolol) จะช่วยลดการระคายเคือง
  • สารสกัดของลิโคชาลโคล เอ (licochalcone A) จะช่วยลดอาการแห้ง แดง คันและระคายเคืองในระยะที่โรคกำเริบ
  • สารเอ็มพีดี (methoxypropanediol) ที่ช่วยลดอาการคันในระยะที่โรคกำเริบ

 

เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณลักษณะ semi-occlusive

สามารถให้ออกซิเจนซึมผ่านผิวหนังได้ ไม่ทำให้เกิดความร้อนในระหว่างที่ทาสารให้ความชุ่มชื้น และสามารถช่วยทำให้ผู้ป่วยมีผิวแห้งมากกลับมามีความชุ่มชื้นของผิวหนังมากขึ้น

การรักษาโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง ด้วยการใช้ยาภายใต้การดูแลของแพทย์

การรักษาด้วยยา:

การใช้ยาทากลุ่มสเตียรอยด์จะช่วยลดอาการอักเสบและคันได้อย่างรวดเร็ว และเห็นผลลัพธ์ที่ดี แต่เนื่องจากอาการข้างเคียงไม่พึงประสงค์ที่อาจเกิดขึ้น จึงแนะนำให้ใช้ยาทาในช่วงสั้น ๆ และในปริมาณที่จำกัดเท่านั้น เพื่อลดโอกาสการเกิดอาการข้างเคียงในระยะยาว และควรอยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด

ในกรณีที่เลือกใช้สารให้ความชุ่มชื้นทางผิวหนังชนิดขี้ผึ้ง (ointment) ควรพิจารณาทายาเพื่อการรักษาก่อน แล้วจึงทาสารให้ความชุ่มชื้นผิวหนังในภายหลัง

หากมีอาการแสดงทางผิวหนังที่รุนแรง หรือไม่สามารถควบคุมด้วยการรักษาพื้นฐาน ควรปรึกษาแพทย์ เนื่องจากโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง “เป็นโรคที่ไม่หายขาด” ผู้ป่วยควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์โดยเคร่งครัดเพื่อควบคุมอาการของโรค

คุณภาพชีวิตของผู้ป่วย โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง

 

1.ผลกระทบต่อผู้ป่วย

  • ผลกระทบทางร่างกาย

บางรายมีความเข้าใจผิดว่า ภาวะแพ้อาหารเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ผื่นกำเริบ ทำให้มีพฤติกรรมหลีกเลี่ยงการรับประทานหลายอย่างโดยไม่จำเป็น ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ การเจริญเติบโต และทำให้เกิดภาวะเครียดอย่างมากในชีวิตประจำวัน

เนื่องจากผู้ป่วยโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังมักมีอาการคันมาก จึงส่งผลต่อคุณภาพการนอนหลับ เช่น ทำให้นอนไม่หลับ หรือตื่นตอนกลางคืน เมื่อมีการนอนไม่เพียงพอ โดยเฉพาะในผู้ป่วยเด็กจะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงด้านอารมณ์ หงุดหงิดง่าย ส่งผลต่อการเจริญเติบโตของเด็ก และทำให้เกิดปัญหาการเรียนและการทำงาน โดยเฉพาะอาจทำให้ต้องหยุดเรียนในช่วงที่ผื่นกำเริบมาก

 

  • ผลกระทบทางจิตใจ

พบว่าผู้ป่วยโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังมีอาการเปลี่ยนแปลงด้านอารมณ์ ซึ่งเป็นผลจากการนอนไม่เพียงพอร่วมกับอาการคันในตอนกลางวัน นอกจากนี้ การมีรอยผื่นจำนวนมาก อาจทำให้ผู้ป่วยเกิดความอาย ขาดความมั่นใจในตัวเอง ไม่กล้าเข้าสังคม เกิดปัญหาแยกตัว และเกิดภาวะซึมเศร้าตามมาได้

 

2.ผลกระทบต่อครอบครัวและผู้ปกครอง

  • ผลกระทบทางร่างกาย

ผลกระทบต่อคุณภาพการนอนหลับ เนื่องจากต้องตื่นมาดูแลบุตรหลานในเวลากลางคืน รวมถึงการดูแลพิเศษทั้งในเรื่องอาหาร เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม และผลิตภัณฑ์เครื่องใช้

 

  • ผลกระทบทางจิตใจ

เนื่องจากโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังมีอาการเรื้อรังเป็น ๆ หาย ๆ ทำให้เกิดความไม่สบายใจแก่ผู้ปกครองที่ไม่เข้าใจและขาดความรู้ในการรักษาโรค ทำให้เสียทั้งเงินและเวลา ต้องแสวงหาการรักษาใหม่ ๆ ตลอดเวลา เปลี่ยนที่รักษาหลายแห่ง และส่งผลกระทบในระยะยาวต่อความสัมพันธ์ในครอบครัว

เอกสารอ้างอิง

  1. Kulthanan K, et al. Clinical practice guidelines for the diagnosis and management of atopic dermatitis. Asian Pac J Allergy Immunol 2021;39(3):145-55.
  2. Weidinger S, et al. Atopic dermatitis. Lancet 2016;387(10023):1109-22.
  3. Proksch E, et al. Role of the epidermal barrier in atopic dermatitis. J Dtsch Dermatol Ges 2009;7(10):899-910.
  4. Angelova-Fischer I, et al. A randomized, investigator-blinded efficacy assessment study of stand-alone emollient use in mild to moderately severe atopic dermatitis flares. J Eur Acad Dermatol Venereol 2014;28Suppl 3:9-15.
  5. Weber T, et al. Treatment of xerosis with a topical formulation containing glyceryl glucoside, natural moisturizing factors, and ceramide. J Clin Aesthet Dermatol 2012;5(8):29-39.
  6. Brandon DH, et al. Effectiveness of No-Sting skin protectant and Aquaphor on water loss and skin integrity in premature infants. J Perinatol 2010;30(6):414-9.
  7. Misery L, et al. Real-life study of anti-itching effects of a cream containing menthoxypropanediol, a TRPM8 agonist, in atopic dermatitis patients. J Eur Acad Dermatol Venereol 2019;33(2):e67-9.
  8. Wisuthsarewong W, et al. The validity and reliability of the Thai version of Children's Dermatology Life Quality Index (CDLQI). J Med Assoc Thai 2015;98(10):968-73.

แนะนำผลิตภัณฑ์ดูแลผิวแพ้ง่าย

สบู่อาบน้ำผิวแพ้ง่าย

Eucerin OMEGA BATH & SHOWER OIL ผลิตภัณฑ์ออยล์อาบน้ำสำหรับผู้มีอาการผิวแห้งระคายและมีแนวโน้มเป็นผื่นภูมิแพ้ที่ต้องเริ่มดูแลผิวตั้งแต่การอาบน้ำ เพื่อลดปัญหาผิวระคายจากผิวแห้ง เสริมเกราะป้องกันผิวลดโอกาสเกิดผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง ด้วย Omega Oil 3 และ 6 ช่วยเสริมเกราะป้องกันผิว และ Polidocanol ลดปัญหาผิวระคายอย่างมีประสิทธิภาพ พิสูจน์แล้วปลอดภัยสามารถใช้ได้ตั้งแต่เด็กแรกเกิด

 

ครีมทาผิวแพ้ง่าย

Eucerin OMEGA BALM LIGHT TEXTURE ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว สำหรับผู้ที่กำลังมีปัญหาผิวแห้ง ระคายเคืองง่าย แดง คัน ผิวอักเสบเป็นผื่นภูมิแพ้ หรือผดผื่น ด้วยสาร Licochalcone A ที่สกัดจากธรรมชาติช่วยลดปัญหาผิวแห้ง และการระคายที่มีสาเหตุจากผิวแห้ง ผสาน Omega 3 & 6 fatty acids และ ceramindes ช่วยเติมไขมันที่จำเป็น เพื่อคืนความชุ่มชื้น พร้อม Shea Butter ที่ช่วยฟื้นบำรุงชั้นปกป้องผิวให้มีสุขภาพดีขึ้น

บทความเกี่ยวข้อง

ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง