ลมพิษ หรือผื่นลมพิษ (Urticaria)
คือ ผื่นที่เกิดขึ้นบนผิวหนังเป็นอาการที่พบบ่อยในทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะในช่วงอายุ 20-40 ปี ลักษณะลมพิษจะเป็นผื่นหรือปื้นนูนแดง ไม่มีขุย กระจายตามตัวแขนขา หรือบริเวณใบหน้า ซึ่งผื่นลมพิษสามารถเกิดขึ้นได้บนทุกส่วนในร่างกาย มักเป็นไม่เกิน 24 ชั่วโมง และผื่นจะค่อยๆ จางหายไป
การดูแลรักษาโรคลมพิษ ส่วนใหญ่แล้วจะใช้ยาฮิทตามิน หรือยาแก้แพ้ในการรักษา แต่หากอาการผมพิษไม่หายไปใน 2 ชั่วโมงควรไปพบแพทย์ทันที
แพ้เหงื่อตัวเอง
คือโรคภูมิแพ้ผิวหนังอักเสบ (Atopic Dermatitis) ชนิดหนึ่งซึ่งแสดงอาการออกมาในรูปแบบผื่นคัน หรือบางรายอาจไม่คันก็ได้ เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันตอบสนองต่อความร้อนเร็วเกินไป ทำให้เกิดผื่นแดง หรือตุ่มใสๆ บริเวณผิวหนัง และจะพบบริเวณที่เป็นซอกพับ เช่น ลำคอ และข้อพับต่างๆ
การดูแลรักษาโรคแพ้เหงื่อ เมื่อมีอาการคันแพ้เหงื่อตัวเอง ควรรีบปรึกษาแพทย์เฉพาะทางผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนังเพื่อทำการตรวจเช็คอาการและรักษาโรค แพทย์อาจจ่ายยาแก้แพ้เหงื่อตัวเองมาให้ทั้งยาที่ใช้ทา และยาที่ใช้รับประทาน
ปฏิกิริยาการแพ้
คือการสัมผัสโดนสารก่อภูมิแพ้ หรือสารที่ก่อให้เกิดการระคายเคือง เช่น เสื้อผ้า ผลิตภัณฑ์ดูแลผิว ขนสัตว์ น้ำหอม ฝุ่นละออง และอาหาร เป็นต้น เมื่อไปสัมผัสโดนสิ่งเหล่านี้อาจทำให้เกิดตุ่มเล็กๆ ขึ้นตามตัว แขน ขาได้
วิธีรักษาตุ่มแดงที่เกิดจากปฏิกิริยาการแพ้ คือการหลีกเลี่ยงการสัมผัสสารก่อภูมิแพ้ หรือสารก่อการระคายเคือง แต่หากมีอาการแพ้รุนแรง ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อให้แพทย์วินิจฉัยและจ่ายยาเพื่อทำการรักษาต่อไป
รูขุมขนอักเสบ
เกิดจากการที่เชื้อรา หรือเชื้อแบคทีเรียเข้าไปสะสมในรูขุมขน ทำให้รูขุมขนอุดตันและอักเสบ จนเกิดเป็นตุ่มแดงเล็กๆ ตามผิวหนัง โดยเฉพาะหนังศีรษะ แขน ขา แผ่นหลัง รวมถึงหน้าอก
การดูแลรักษารูขุมขนอักเสบ สามารถปล่อยทิ้งไว้ให้หายเองได้ หากอาการที่เกิดขึ้นไม่หายเป็นระยะเวลานาน หรือรุนแรงขึ้น ควรไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษา ซึ่งแพทย์อาจจะจ่ายยาปฏิชีวนะ หรือยาต้านเชื้อราในการรักษารูขุมขนอักเสบ
ผดผื่น ผดร้อน
เกิดจากการอุดตันของต่อมเหงื่อใต้ผิวหนัง เมื่ออากาศร้อน ออกกำลังกายอย่างหนัก หรือห่มผ้าห่มเป็นเวลานาน มักส่งผลให้เหงื่อไม่ถูกขับออกจากร่างกาย ทำให้เกิดตุ่มน้ำเล็กๆ หรือตุ่มแดงขึ้นตามตัว มีทั้งแบบคันและไม่คัน
การดูแลรักษาผดผื่น ผดร้อน รักษาได้ด้วยตัวเองคือการหลีกเลี่ยงการอยู่ในสภาพอากาศร้อนชื้น อาบน้ำเย็น โดยให้น้ำไหลผ่านผิวหนังเรื่อย ๆ เพื่อชำระล้างเหงื่อและไขมันตามร่างกายออกไป และอาจใช้ผ้าเปียกหรือผ้าเย็นวางบนบริเวณที่เกิดผดร้อนเพื่อลดอุณหภูมิให้เย็นลง หากอาการไม่รุนแรงจะหายเองได้ภายใน 2-3 วัน สำหรับการรักษาด้วยยาแพทย์อาจให้ผู้ป่วยใช้ยารักษาตามอาการ เช่น รับประทานยาแก้แพ้ถ้ามีอาการคัน และใช้ยาขี้ผึ้งหรือผลิตภัณฑ์ให้ความชุ่มชื้นผิวเพื่อบรรเทาอาการต่างๆ รวมทั้งลดความเสี่ยงการเกิดผลข้างเคียงจากผดร้อน เช่น คาลาไมน์ให้ความชุ่มชื้น แอนไฮดรัส ลาโนอิน (Anhydrous Lanolin) ป้องกันการเกิดผดร้อนเพิ่มขึ้น และยาทาสเตียรอยด์ สำหรับรักษาผดร้อนที่มีอาการรุนแรง แต่ควรอยู่ในการแนะนำปริมาณจากแพทย์จะดีที่สุด
โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (Atopic dermatitis)
เป็นโรคที่มีการอักเสบของผิวหนังอย่างเรื้อรัง เป็นๆ หายๆ โดยโรคนี้พบได้บ่อยในเด็ก แต่สามารถพบในผู้ใหญ่ได้เช่นกัน อาการสำคัญของโรคนี้ คือ ผิวหนังแห้งอักเสบและมีอาการคัน ซึ่งมักคันมากตลอดเวลา โดยเฉพาะเวลากลางคืน นอกจากนี้ยังอาจเกิดเป็นตุ่มน้ำ ตุ่มหนอง มีน้ำเหลืองไหล หากมีการติดเชื้อร่วมด้วย สำหรับสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคผื่นภูมิแพ้ผิวนั้น ยังไม่สามารถระบุได้อย่างชัดเจน แต่เชื่อว่าเกิดจากพันธุกรรม ซึ่งผู้ป่วยจะมีการตอบสนองที่ผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันของผิวหนัง และมีสิ่งแวดล้อมเป็นตัวกระตุ้นให้ผื่นรุนแรงขึ้น
การดูแลรักษาผื่นภูมิแพ้หนัง เนื่องจากโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังเป็นโรคเรื้อรัง เป็นๆ หายๆ เป้าหมายของการรักษาโรคนี้จึงเป็นการควบคุมอาการต่างๆ ของโรค ป้องกันไม่ให้โรคกำเริบ โดยการหลีกเลี่ยงตัวกระตุ้น เช่น ฝุ่น สารก่อภูมิแพ้ การหลีกเลี่ยงการอยู่ในสภาพอากาศที่ร้อน หรือหนาวจัด หากมีผื่นขึ้นตามผิวหนังควรทาสารเพิ่มความชุ่มชื้นผิวหนัง (Moisturizer) อย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง และทาหลังอาบน้ำทันทีเพื่อให้เก็บความชุ่มชื้นของผิวหนังได้มากที่สุด สำหรับผู้ที่มาอาการรุนแรงแพทย์อาจจะจ่ายยาเพื่อต้านการอักเสบ เช่น ยาทากลุ่มสเตียรอยด์ หรือยาปฏิชีวนะเพิ่มเติม ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน ปริมาณตามที่แพทย์ผิวหนังแนะนำ