Estrogen (เอสโตรเจน) คือฮอร์โมนเพศหญิงที่ร่างกายผลิตขึ้นเองตามธรรมชาติ มีหน้าที่ควบคุมเกี่ยวกับระบบสืบพันธุ์ของผู้หญิง เมื่อเข้าสู่วัยรุ่นร่างกายผู้หญิงจะผลิตเอสโตรเจนและเปลี่ยนจากเด็กเป็นผู้ใหญ่ และค่อยๆน้อยลงเมื่อผู้หญิงมีอายุมากขึ้น ทำให้เกิดอาการหนาวๆร้อนๆ เหงื่อออกมากหรือหนาวสั่น และฮอร์โมนเอสโตรเจนมีประโยชน์ทั้งต่อผิวพรรณ ช่วยในเรื่องการเจริญเติบโต รวมถึงด้านอารมณ์ ดังนั้น จึงควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับฮอร์โมนเอสโตรเจน เพื่อให้สามารถเตรียมความพร้อมสำหรับดูแลร่างกายและสุขภาพของผู้หญิงโดยเฉพาะ
ฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) คืออะไร?
ฮอร์โมนเอสโตรเจน คือฮอร์โมนเพศหญิงที่สำคัญ ทำหน้าที่ควบคุมระบบสืบพันธุ์ของเพศหญิง ผลิตจากรังไข่เป็นส่วนใหญ่ และมีส่วนน้อยที่ผลิตจากต่อมหมวกไตและเซลล์ไขมัน โดยจะมีผลต่อการเจริญเติบโตทางเพศ ลักษณะของเพศหญิงต่างๆ การมีประจำเดือน การตั้งครรภ์ และการหมดประจำเดือน
ฮอร์โมนเอสโตรเจน มีหน้าที่อะไร?
ฮอร์โมนเอสโตรเจนมีหน้าที่ในการควบคุมการมีประจำเดือนและการหมดประจำเดือนของเพศหญิงและยังดูแลเรื่องระบบของอวัยวะต่างๆในร่างกายอีกด้วย
- ระบบหัวใจและหลอดเลือด ควบคุมการผลิตคอเลสเตอรอล ทั้ง คอเลสเตอรอลที่ไม่ดี (LDL) และเพิ่มระดับของคอเลสเตรอลที่ดี (HDL)
- ระบบกล้ามเนื้อ กระดูก ข้อต่อ นอกจากนี้ยังช่วยในการรักษาคอลลาเจนเพื่อคงความยืดหยุ่นให้กับผิว ซึ่งฮอร์โมนนี้จะเริ่มมีปริมาณลดลงตั้งแต่ช่วงอายุ 30 ปีเป็นต้นไป และอีกหน้าที่ของฮอร์โมนเอสโตรเจนก็คือการกำจัดอนุมูลอิสระ (Free Radical) ทำให้ผิวของเรานั้นไม่เกิดริ้วรอยเหี่ยวย่นก่อนวัยอันควร
- ระบบประสาทและสมอง ช่วยเรื่องความทรงจำ รักษาสมดุลทางด้านอารมณ์และจิตใจ
เกิดอะไรขึ้นถ้าฮอร์โมนเอสโตรเจนไม่สมดุล?
ฮอร์โมนเอสโตรเจนควรสมดุลอยู่ในระดับที่เหมาะสม เพื่อรักษาระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายให้ทำงานได้อย่างเป็นปกติ หรือเกิดความผิดปกติในเรื่องผิวพรรณ เช่น ผิวแห้งหรือเกิดรอยเหี่ยวย่นปัจจัยที่มีผลต่อระดับฮอร์โมนเอสโตรเจน ได้แก่ น้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้น ความเครียดสะสมเรื้อรัง อาหารที่รับประทาน รวมถึงยาหรือสารเคมีที่รับเข้าสู่ร่างกาย หากฮอร์โมนมากไปหรือน้อยเกินไปย่อมส่งผลเสียต่อร่างกายหลายอย่าง
ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนมากไปมีผลต่อร่างกาย ดังนี้
- ส่งผลให้ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ
- ทำให้เกิดอาการก่อนมีประจำเดือนผิดปกติ เช่น อยากรับประทานของหวาน ตัวบวม น้ำหนักขึ้นไว ปวดไมเกรน คัดตึงเต้านม
- นอนหลับยากขึ้น อารมณ์เปลี่ยนแปลงง่าย
- อาจทำให้เกิดเนื้องอก ถุงน้ำเต้านม มดลูก หรือรังไข่
ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนต่ำมีผลต่อร่างกาย ดังนี้
- ไม่มีสมาธิในการทำงาน หลงลืม ขาดสมาธิในการจดจ่อกับงานที่ทำ
- ปัญหานอนไม่หลับ ทำให้เซโรโทนินต่ำส่งผลต่อการนอน
- ทำให้เกิดอาการซึมเศร้า เนื่องจากระดับของฮอร์โมนเซโรโทนิน ที่ช่วยลดภาวะซึมเศร้านั้นลดลง
- มีผลต่อกระดูก เมื่อระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนต่ำ ทำให้ความหนาแน่นของกระดูกลดลง
- ช่องคลอดฝ่อ สูญเสียความยืดหยุ่นทำให้หลั่งสารหล่อลื่นได้ช้าลง
ฮอร์โมนเอสโตรเจนส่งผลต่อผิวอย่างไร
- ความชุ่มชื้นของผิว: เอสโตรเจนช่วยรักษาระดับความชุ่มชื้นของผิวโดยกระตุ้นการผลิตกรดไฮยาลูโรนิกซึ่งเป็นสารที่ช่วยให้ผิวอุ้มน้ำได้ดีขึ้น มีส่วนช่วยให้ผิวดูอิ่มน้ำและดูอ่อนเยาว์
- การผลิตคอลลาเจน: เอสโตรเจนช่วยเสริมการสังเคราะห์คอลลาเจนซึ่งเป็นโปรตีนที่ช่วยเรื่องโครงสร้างแก่ผิวหนัง คอลลาเจนจะช่วยคงความยืดหยุ่นของผิว กระชับ และลดเลือนรอยเหี่ยวย่น
- การผลิตน้ำมัน: เอสโตรเจนสามารถควบคุมการผลิตน้ำมันตามธรรมชาติของผิว สำหรับการรักษาความชุ่มชื้นของผิว แต่การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนอาจทำให้เกิดการผลิตซีบัมที่เพิ่มขึ้น ซึ่งมีส่วนทำให้เกิดสิวมากขึ้น
- การควบคุมเมลานิน: เอสโตรเจนมีส่งผลต่อการผลิตเมลานินซึ่งเป็นเม็ดสีที่เกี่ยวข้องกับเรื่องสีผิว สามารถช่วยปรับสีผิวให้สม่ำเสมอขึ้นและป้องกันแสงแดดได้
ฮอร์โมนเอสโตรเจนที่สมดุลควรมีค่าเท่าไหร่?
- ผู้หญิงในวัยเจริญพันธุ์จะมีปริมาณฮอร์โมนเอสโตรเจนที่ 15-350 pg/mL โดยจะแตกต่างกันในช่วงของการตกไข่และมีประจำเดือน
- ผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนจะมีปริมาณฮอร์โมนเอสโตรเจนที่ลดต่ำลงที่ <10 pg/mL หากมีฮอร์โมนเอสโตรเจนมากเกินไปอาจทำให้มีการสะสมไขมันมากขึ้น ส่งผลให้เกิดโรคอ้วน ทำให้หงุดหงิด อารมณ์แปรปรวนง่าย และเพิ่มความเสี่ยงต่อมะเร็งบางชนิดและไขมันในเส้นเลือด
ฮอร์โมนเอสโตรเจน กับ ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน แตกต่างกันอย่างไร?
เอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนเป็นฮอร์โมนที่สำคัญ 2 ชนิดในร่างกายผู้หญิง เอสโตรเจนมีหน้าที่ในการควบคุมลักษณะทางเพศของผู้หญิง ช่วยควบคุมรอบเดือน ควบคุมมวลกระดูก และมีผลต่ออารมณ์และสมาธิ โปรเจสเตอโรนเป็นฮอร์โมนที่เตรียมและบำรุงมดลูกให้รองรับการตั้งครรภ์รวมไปถึงเต้านมในระหว่างตั้งครรภ์ มีผลต่ออุณหภูมิของร่างกาย และมีอิทธิพลต่ออารมณ์และการนอนหลับ
วิธีดูแลรักษาระดับเอสโตรเจน?
การรับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยเอสโตรเจนในวันหลังไข่ตก มีส่วนช่วยรักษาระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนในร่างกาย ซึ่งสารเลือกรับประทานอาหารต่างๆ และควรรับประทานแต่พอดี การรับประทานมากไปก็อาจทำให้เกิดอาการฮอร์โมนเสียสมดุลด้วยเช่นกัน
ผลไม้สด
เป็นอาหารที่มีไบโอฟลาโวนอยด์ ช่วยเสริมสร้างสารต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งผลไม้สดที่มีสารไบโอฟลาโวนอยด์อยู่มาก เช่น มะขาม ส้มโอ ส้มเขียวหวาน มะนาว
ดื่มน้ำมะพร้าว
เพราะในน้ำมะพร้าวมีฮอร์โมนอสโตรเจนสูง ช่วยทดแทนฮอร์โมนในช่วงที่สวิงดาวน์ลงได้ นอกจากนี้ก็มีส่วนช่วยในการขับสารพิษออกจากร่างกาย ด้วยกระบวนการที่คล้ายกับการดีท็อกซ์อีกด้วย
น้ำเต้าหู้
เพราะถั่วเหลืองในน้ำเต้าหู้นอกจากจะเป็นอาหารที่มีโปรตีนสูง แล้วยังมี ฮอร์โมนไฟโตเอสโตรเจนทำหน้าที่คล้ายกับฮอร์โมนเอสโตรเจน ช่วยปรับฮอร์โมนของผู้หญิงที่ขาดไป
วิตามินบี
วิตามินบีมีส่วนสำคัญในการสร้างและกระตุ้นฮอร์โมนเอสโตรเจนในร่างกาย หากร่างกายมีวิตามินบีในระดับที่ต่ำอาจทำให้ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลง
วิตามินดี
วิตามินดีและฮอร์โมนเอสโตรเจนทำงานร่วมกันช่วยลดความเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือด โดยวิตามินดีมีบทบาทในการสังเคราะห์ฮอร์โมนเอสโตรเจน
การรับประทานเมล็ดแฟลกซ์
มีส่วนช่วยต่อต้านผลกระทบของฮอร์โมนเอสโตรเจนที่มีมากเกินไปทำให้ร่างกายผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนได้อย่างเหมาะสมพร้อมลดโอกาสเสี่ยงในการเกิดมะเร็งเต้านม มะเร็งท่อปัสสาวะ และมะเร็งรังไข่
เอสโตรเจนเป็นฮอร์โมนสำคัญของเพศหญิงและเป็นปัจจัยสำคัญในการรักษาดูแลผิวพรรณให้ดูอ่อนเยาว์ และมีสุขภาพดี เป็นหัวใจแห่งความงามของผู้หญิงทุกคนที่ต้องการดูแลตัวเองให้ดูดีอยู่เสมอ การรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่, การออกกำลังกาย, การนอนพักผ่อนให้เพียงพอ หรือ การมีสุขภาพจิตที่ดี ก็เป็นอีกหนึ่งตัวช่วยทำให้เรามีสุขภาพที่ดีและมีผิวที่อ่อนเยาว์ได้