สิวฮอร์โมน สิวประจำเดือน ควรรักษาอย่างไรดี

อ่านแล้ว 1 นาที
แสดงบทความเพิ่มเติม
สิวฮอร์โมน

สิวฮอร์โมน (Hormonal Acne) เมื่อพูดถึงสิวฮอร์โมนแล้ว หลายคนอาจจะนึกถึงหนุ่มสาววัย 15-18 ปี เนื่องจากเป็นช่วงอายุที่ฮอร์โมนกำลังพลุ่งพล่านและเติบโตอย่างเต็มที่ ความเปลี่ยนแปลงผันผวนของฮอร์โมนนี้ส่งผลให้เกิดปัญหาสิวขึ้น ซึ่งในความจริงนั้นสิวจากฮอร์โมนไม่ได้เป็นเพียงปัญหาของวัยรุ่นเท่านั้น แต่ยังสามารถพบได้ในทุกช่วงวัย ทั้งเพศหญิงและชาย ที่มีความเกี่ยวข้องกับระดับฮอร์โมนภายในร่างกาย เช่น การมีประจำเดือน หรือ หมดประจำเดือน แม้กระทั่งความเครียดก็ทำให้เกิดสิวฮอร์โมนได้ ซึ่งเราจะมาร่วมทำความเข้าใจถึง สาเหตุของการเกิดสิวฮอร์โมน และการดูแลรักษาสิวฮอร์โมน ว่าควรมีแนวทางอย่างไร


สิวและฮอร์โมนเกี่ยวข้องอย่างไรกับ สิวฮอร์โมน ?

สิวฮอร์โมน (Hormonal Acne) คือ สิวที่เกิดจากความเปลี่ยนแปลงและความไม่สมดุลของระดับฮอร์โมนในร่างกาย ซึ่งฮอร์โมนเหล่านี้มีอิทธิพลโดยตรงต่อการทำงานของต่อมไขมันใต้ผิวหนัง ทำให้ผลิตน้ำมัน (Sebum) มากเกินไป ประกอบกับการผลัดเซลล์ผิวที่ผิดปกติ ทำให้เกิดการอุดตันในรูขุมขน และเมื่อมีการติดเชื้อแบคทีเรีย (โดยเฉพาะ Cutibacterium acnes หรือชื่อเดิม Propionibacterium acnes) ก็จะนำไปสู่การอักเสบกลายเป็นสิวในที่สุด มักจะเกิดขึ้นช่วงที่ฮอร์โมนเปลี่ยนแปลง เช่น ก่อนหรือหลังรอบเดือนในแต่ละเดือน

สิวฮอร์โมนเกิดจากอะไร

สาเหตุของสิวฮอร์โมน นั้นมีมากมายหลายประการ แต่หลักๆแล้ว สิวฮอรโมน เกิดจากปริมาณฮอร์โมนที่ไม่สมดุลภายในร่างกาย เช่น เมื่อเข้าสู่ช่วงวัยรุ่นร่างกายจะผลิตฮอร์โมนเพศชาย (Androgens) มากขึ้น ที่ชื่อว่าฮอร์โมนเทสโทสเทอโรน (Testosterone) ซึ่งสามารถกระตุ้นการผลิตไขมันในต่อมไขมันให้ผลิตไขมันส่วนเกิน (Seborrhea) เพิ่มมากขึ้น ผิวหน้าของหนุ่มสาวในช่วงวัยนี้จึงมีความมันเยิ้มมากขึ้น ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักที่สามารถนำไปสู่การเกิดสิวฮอร์โมนได้นั่นเอง

ฮอร์โมนแอนโดรเจน (Androgens):

แอนโดรเจน เช่น เทสโทสเตอโรน (Testosterone) เป็นฮอร์โมนเพศชายที่พบได้ทั้งในผู้ชายและผู้หญิง (ผู้หญิงมีในปริมาณน้อยกว่าแต่ก็มีความสำคัญ) ฮอร์โมนนี้มีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นต่อมไขมัน (Sebaceous glands) ให้มีขนาดใหญ่ขึ้นและผลิตซีบัมมากขึ้น นอกจากนี้ยังอาจมีผลต่อกระบวนการเคราติไนเซชัน (Keratinization) หรือการสะสมของเซลล์ผิวที่ตายแล้วในรูขุมขน ทำให้เกิดการอุดตันได้ง่าย

เมื่อไม่สมดุล: หากระดับแอนโดรเจนสูงเกินไป หรือต่อมไขมันมีความไวต่อแอนโดรเจนมากเป็นพิเศษ แม้ระดับฮอร์โมนโดยรวมจะปกติ ก็สามารถกระตุ้นให้เกิดสิวได้

ฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) และ โปรเจสเตอโรน (Progesterone):

ฮอร์โมนเอสโตรเจน เป็นฮอร์โมนเพศหญิงหลักที่มีระดับขึ้นลงตลอดรอบเดือน เอสโตรเจนมักมีผลดีต่อผิว ช่วยให้ผิวชุ่มชื้นและสุขภาพดี ส่วนโปรเจสเตอโรนมีบทบาทในการเตรียมพร้อมสำหรับการตั้งครรภ์

เมื่อไม่สมดุล: ในช่วงก่อนมีประจำเดือน ระดับเอสโตรเจนจะลดลง ในขณะที่ระดับโปรเจสเตอโรน (และระดับเทสโทสเตอโรนสัมพัทธ์) อาจสูงขึ้น ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้อาจทำให้ต่อมไขมันผลิตน้ำมันมากขึ้น ผิวบวมเล็กน้อยทำให้รูขุมขนตีบแคบลง ส่งผลให้เกิดการอุดตันและสิวเห่อได้ง่าย

คอร์ติซอล (Cortisol):

คอร์ติซอล รู้จักกันในนาม "ฮอร์โมนความเครียด" ร่างกายจะหลั่งคอร์ติซอลออกมาเมื่อเผชิญกับความเครียด

เมื่อไม่สมดุล: ความเครียดเรื้อรังทำให้ระดับคอร์ติซอลสูงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจไปกระตุ้นการผลิตไขมันจากต่อมไขมัน และยังส่งเสริมกระบวนการอักเสบในร่างกาย ทำให้สิวที่เป็นอยู่แย่ลงหรือเกิดสิวใหม่ได้

อินซูลิน (Insulin) และ IGF-1 (Insulin-like Growth Factor 1):

อินซูลินเกี่ยวข้องกับการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ส่วน IGF-1 เป็นฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโต

เมื่อไม่สมดุล: การรับประทานอาหารที่มีน้ำตาลสูงหรือมีค่าดัชนีน้ำตาล (Glycemic Index) สูงเป็นประจำ จะกระตุ้นการหลั่งอินซูลินและ IGF-1 ซึ่งฮอร์โมนเหล่านี้สามารถกระตุ้นการผลิตแอนโดรเจน และทำให้ต่อมไขมันทำงานหนักขึ้น ส่งผลให้เกิดสิวได้

ประเภทของสิวฮอร์โมนที่อาจเกิดขึ้นเมื่อฮอร์โมนเปลี่ยนแปลง

  • สิวอุดตัน (Comedones) : เป็นรูปแบบของสิวที่เกิดขึ้นเมื่อรูขุมขนถูกอุดตันด้วยสิ่งสกปรกตกค้างและความมันประเภทสิวอุดตันประกอบด้วยสิวหัวขาว (Whiteheads) และสิวหัวดำ (Blackheads)
  • สิวหัวขาว (Whiteheads) : เกิดจากเซลล์ผิวหนังเสียหลุดร่วงและสะสมภายในรูขุมขน ทำให้เกิดการอุดตันภายในรูขุมขน ซึ่งทำให้รูขุมขนปิดตัวและกลายเป็นจุดขาวๆ
  • สิวหัวดำ (Blackheads) : เป็นผลมาจากปฏิกิริยาออกซิเดชันที่อุดตันอยู่ภายในรูขุมขน ซึ่งเมื่อออกซิเดชันตอบสนองกับอากาศ จะทำให้เปลี่ยนเป็นสิวที่มีลักษณะเป็นจุดดำๆ อยู่ภายในรูขุมขน หรือที่เรียกว่า สิวหัวดำนั้นเอง
  • สิวอักเสบ (Inflammatory acne) : เป็นรูปแบบหนึ่งของสิวที่เกิดจากการอักเสบของรูขุมขน โดยประกอบด้วยสิวตุ่มนูนแดง (papules) และสิวหัวหนอง (pustules) ที่มีการอักเสบและบวมขึ้นบนผิวหนัง
  • สิวตุ่มนูนแดง (Papules) : มักเกิดจากการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายต่อการอุดตันของความมันในรูขุมขน โดยมีขนาดเล็กหรือใหญ่กว่าก้อนสิวปกติ ตรงกลางของสิวจะเป็นตุ่มเนื้อเยื่อแดงซึ่งสามารถรู้สึกได้ว่าเป็นแผลอยู่บนผิวหนัง
  • สิวหัวหนอง (Pustules) : มีลักษณะเป็นตุ่มแดงที่มีหัวหนองสีขาวหรือเหลืองภายใน เกิดจากการอักเสบของผิวหนังและการระคายเคืองที่ตรงกับรูขุมขนอาจมาพร้อมกับอาการอักเสบรอบๆ ตุ่มสิวเช่น ความร้อน บวม บางครั้งอาจเกิดริ้วรอยหรือแผลเป็นจุดด่างดําบริเวณสิวที่แตกออกมา
  • สิวตุ่มแดงขนาดใหญ่ (Nodule) : เป็นรูปแบบของสิวที่มีความอักเสบรุนแรงและมีขนาดใหญ่กว่าสิวปกติ สิวตุ่มแดงมักเกิดจากการอักเสบลึกในชั้นหนังลึกของผิวหนัง โดยส่วนใหญ่เกิดจากการสะสมของเซลล์ผิวหนังที่ตายและสิ่งสกปรกภายในรูขุมขน ซึ่งทำให้เกิดการอักเสบอย่างรุนแรง อาจมีความเจ็บปวดและบวมรอบๆ ตุ่มสิว

ความแตกต่างของสิวทั่วไปกับสิวฮอร์โมน

แม้ว่าสิวที่เกิดขึ้นจะมีความคล้ายคลึงกัน แต่เราสามารถแยกสิวที่เกิดขึ้นปกติทั่วไป กับสิวฮอร์โมนได้ดังนี้


สิวทั่วไป

สิวฮอร์โมน

สาเหตุ

โดยส่วนมากมาจากปัจจัยภายนอกที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดสิว

ทั้งอาหาร, ความมันส่วนเกินบนใบหน้า,ความสะอาดที่ไม่เพียงพอ, การระคายเคืองจากสารเคมี เป็นต้น

สิวฮอร์โมน เกิดจากฮอร์โมนที่ไม่สมดุล โดยมีปัจจัยกระตุ้นที่มาทั้งจากภาวะเครียด, อาหารหวาน มัน, การตั้งครรภ์, ช่วงที่มีประจำเดือน, พักผ่อนไม่เพียงพอ หรือมีภาวะถุงน้ำในรังไข่ (PCOS)

วิธีสังเกต / ลักษณะ

สามารถเกิดขึ้นทุกบริเวณ
ทั่วทั้งใบหน้า ลำคอและตัวจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตและปัจจัยกระตุ้น

สิวฮอร์โมนมักเกิดขึ้นซ้ำๆ ในช่วงเวลาเดิม และสำหรับผู้ชายมักจะขึ้นในช่วงวัยรุ่น ส่วนผู้หญิงมักจะเกิดก่อนเป็นประจำเดือน

โดยมักจะขึ้นบริเวณรอบริมฝีปาก คาง แนวสันกรามและลำคอ

วิธีการดูแล

หมั่นทำความสะอาดสิ่งสกปรกและความมันส่วนเกิน ร่วมกับการใช้สกินแคร์ที่เหมาะสมกับผิวหน้าและประเภทของสิวที่เกิดขึ้น

สิวฮอร์โมนสามารถหลีกเลี่ยงได้ถ้าได้รับการพักผ่อนให้เพียงพอ เลี่ยงความเครียดและ

ไม่รับประทานอาหารหวาน มัน ร่วมกับการใช้สกินแคร์บำรุงผิวหน้าที่ช่วยลดสิวและดูแลความชุ่มชื้นให้ผิวอยู่เสมอ

หากอาการไม่ดีขึ้นแนะนำให้ปรึกษาแพทย์เฉพาะทาง

นอกจากนี้เราสามารถสังเกต สิวฮอร์โมน ได้ง่ายๆ โดยเริ่มจากสังเกตตัวเอง สิวฮอร์โมนมีลักษณะคล้ายสิวปกติทั่วไป แต่จะเกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาเดิมๆ ซ้ำๆ เป็นประจำ เช่น สิวประจำเดือน ที่มักเกิดขึ้นก่อน หรือหลังมีประจำเดือน และค่อยๆ ดีขึ้นเมื่อประจำเดือนมาแล้ว หรือช่วงระยะเวลาที่มีความเครียดสะสม จะส่งผลกระทบให้ฮอร์โมนในร่างกายแปรปรวนจนเกิดเป็นสิวขึ้น ซึ่งอีกนัยหนึ่งอาจเป็นสัญญาณเตือนถึงความไม่สมดุลของฮอร์โมนในร่างกาย รวมไปถึงหากคุณไม่เคยมีปัญหาสิวมาก่อนในวัยรุ่น แต่เริ่มมาเป็นสิวมากตอนอายุ 20, 30 หรือ 40 ปีขึ้นไป อาจเป็นสัญญาณของสิวฮอร์โมน



รักษาสิวฮอร์โมน

วิธีรักษาสิวฮอร์โมน

  1. การใช้ยาทา รักษาสิวฮอร์โมน

    การใช้ยาทาเพื่อรักษาสิว สามารถใช้เพื่อรักษาสิวได้ แต่ต้องใช้แบบถูกวิธี และควรอยู่ในการดูแลของแพทย์ผิวหนังอย่างใกล้ชิด อย่างการใช้ยาที่มีส่วนผสมของ

    • Topical retinoids เช่น Tretinoin และ Adapalene ที่เป็นอนุพันธ์ของวิตามินเอ จะออกฤทธิ์ผลัดเซลล์ผิว ลดการอุดตัน หรือลดการอักเสบด้วย ใช้สำหรับรักษา สิวอุดตันและสิวอักเสบ เป็นยาที่ต้องปรับตัว อาจทำให้ผิวแห้ง, แดง, ลอก, ไวต่อแสงในช่วง 1-2 เดือนแรก (Retinoid reaction) ควรเริ่มใช้น้อยๆ (ปริมาณเท่าเมล็ดถั่วเขียวทาทั่วหน้า) คืนเว้นคืน และทามอยส์เจอไรเซอร์ตามเสมอ ห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์หรือวางแผนจะตั้งครรภ์
    • Benzoyl Peroxide มีฤทธิ์ช่วยลดการอุดตันของรูขุมขน และช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรีย แต่อาจทำให้ผิวแห้ง, แดง, ลอก ในช่วงแรก ควรเริ่มจากความเข้มข้นต่ำๆ
    • Topical Antibiotic มีฤทธิ์ ฆ่าเชื้อแบคทีเรียบนผิวหนัง อย่างเชื้อแบคทีเรีย C. acnes และลดการอักเสบ ควรใช้ควบคู่กับยา Benzoyl Peroxide เพื่อป้องกันเชื้อแบคทีเรียดื้อยา
    • Azelaic acid เป็นยารักษาสิวอีกชนิดหนึ่งที่ใช้ผลัดเซลล์ผิว และมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย แพทย์มักจ่ายยานี้เมื่อคนไข้เกิดอาการข้างเคียงจากยารักษาสิว Benzoyl Peroxide หรือ Topical retinoids เพราะค่อนข้างอ่อนโยนกว่า Retinoids และสามารถใช้ได้ในหญิงตั้งครรภ์
  2. การฉีดสิว (Cortisone Injections)

    การฉีดสิว (Cortisone Injections) เป็นวิธีการรักษาสิวฮอร์โมนโดยลดการระคายเคืองและปรับความตึงของผิวหนังเพื่อลดสิวอักเสบรุนแรงหรือสิวอุดตันที่เป็นก้อนแข็งอยู่ใต้ผิวหนัง โดยแพทย์จะฉีดยาสเตียรอยด์ปริมาณน้อยๆ เข้าไปในสิวอักเสบเม็ดใหญ่ๆ เช่น สิวหัวช้าง สิวซีสต์ ช่วยให้สิวยุบและลดการอักเสบอย่างรวดเร็วภายใน 24-72 ชั่วโมง ป้องกันการเกิดแผลเป็นจากสิวอักเสบรุนแรง

  3. การใช้เลเซอร์และการบำบัดด้วยแสง (Phototherapy and Laser)

    การใช้เลเซอร์และการบำบัดด้วยแสง (Phototherapy and Laser) เป็นวิธีการรักษาสิวฮอร์โมนที่ได้รับความนิยมในปัจจุบัน โดยการใช้เลเซอร์เข้าไปยับยั้งการทำงานของต่อมไขมันในผิวหนังและฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่เป็นต้นเหตุของการเกิดสิว เพราะแสงหรือเลเซอร์บางชนิดสามารถฆ่าเชื้อ C. acnes, ลดการทำงานของต่อมไขมัน, หรือลดการอักเสบได้ บางชนิดยังช่วยเรื่องรอยแดงจากสิว

  4. การใช้สารเคมีในการผลัดเซลล์ผิว (Chemical Peel)

    การใช้สารเคมีที่ช่วยในการผลัดเซลล์ผิว (Chemical Peel) เป็นหนึ่งในวิธีการรักษาสิวฮอร์โมนในกลุ่มคนที่ไม่สามารถใช้ยาบางชนิดได้ สารเคมีนั้นจะช่วยในการผลัดเซลล์ผิวหนังชั้นนอกสุดออกมาเพื่อลดการอุดตันและการอักเสบในรูขุมขน ช่วยให้ผิวหน้าเรียบเนียนมากขึ้น ลดรอยสิว และกระตุ้นการสร้างเซลล์ผิวใหม่ ควรทำโดยผู้เชี่ยวชาญ และเลือกชนิดของกรดและความเข้มข้นให้เหมาะกับสภาพผิว

  5. ปรึกษาแพทย์ผิวหนังหรือรับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ

    การเข้ารับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ เพื่อหาแนวทางในการดูแล รักษาสิวฮอร์โมนได้อย่างถูกต้องตามแต่ละชนิดของผิว เพราะปัญหา สิวฮอร์โมน มีสาเหตุมาจากปัจจัยภายในที่เป็นตัวกระตุ้นหลัก เบื้องต้นแพทย์อาจจะให้ใช้ยาใช้ภายนอก เช่น ยากลุ่ม Benzoyl Peroxide หรือยาทาภายนอกตัวอื่นๆ เพื่อช่วยในการรักษาสิวฮอร์โมน ซึ่งไม่แนะนำสำหรับผู้ที่อยู่ระหว่างการตั้งครรภ์ เพราะยารักษาสิวมีสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อการเติบโตของทารกในครรภ์ได้ จึงควรหลีกเลี่ยงยารักษาสิวทุกประเภท และให้แพทย์เฉพาะทางหรือสูตินรีแพทย์ของคุณแนะแนวทางในการรักษาสิวฮอร์โมนวิธีอื่นๆ แทน

วิธีป้องกันสิวฮอร์โมน

สิวฮอร์โมน เป็นสิวที่เราหลีกเลี่ยงได้ยาก แต่เราสามารถดูแลตัวเองเพื่อป้องกันหรือช่วยลดการกระตุ้นให้เกิดสิวจากฮอร์โมนไม่ให้รุนแรงได้ เช่น

  • ไม่บีบหรือ แกะสิว หรือสัมผัสหน้าบ่อยๆ
  • ล้างทำความสะอาดผิวหน้าให้สะอาด ไม่ขัด หรือสครับแรงๆ
  • ลดความเครียดด้วยการหากิจกรรมบำบัด ผ่อนคลายความเครียด นอนพักผ่อนให้มีคุณภาพ
  • หลีกเลี่ยงอาหารที่กระตุ้นการเกิดสิว หรือกระตุ้นต่อมไขมันให้ทำงานหนักอย่างอาหารที่มีน้ำตาลสูง อาหารทอดและอาหารมัน
  • แนะนำให้รับประทานอาหารให้ครบถ้วนทุกหมู่โภชนาการ เน้นผักผลไม้ที่มีไฟเบอร์สูง
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ก็จะช่วยลดโอกาสการเกิดสิวและลดระดับความรุนแรงของสิวจากฮอร์โมนได้
  • ใช้สกินแคร์ที่เหมาะสมต่อเนื่อง ทำความสะอาดผิวอย่างถูกวิธี, ให้ความชุ่มชื้น, และทาครีมกันแดดทุกวัน
  • สังเกตปัจจัยกระตุ้นส่วนตัว เรียนรู้และสังเกตว่าอะไรที่มักทำให้สิวของคุณเห่อ (เช่น อาหารบางชนิด, ความเครียด, ผลิตภัณฑ์บางอย่าง) และพยายามหลีกเลี่ยง
สิวฮอร์โมน ช่วงที่มีประจำเดือน

การเลือกสกินแคร์สำหรับผิวเป็นสิวฮอร์โมน เสริมการรักษา ลดการระคายเคือง

เพราะในช่วงที่ฮอร์โมนไม่สมดุล ผิวจะถูกกระตุ้นจากฮอร์โมน ทำให้ผิวหน้ามันได้ง่ายและมีอาการบวมที่ส่งผลให้รูขุมขนอุดตัน จนเกิดเป็นสิวฮอร์โมนได้ง่าย ดังนั้นการดูแลผิวภายนอกจึงต้องใส่ใจเป็นพิเศษ ทั้งการทำความสะอาดควบคู่กับการดูแลปัญหาสิวที่เกิดขึ้น

Eucerin PRO ACNE SOLUTION 3X TREATMENT GEL TO FOAM CLEANSER เจลล้างหน้าสำหรับคนเป็นสิว ที่ช่วยดูแลความสะอาดผิวเป็นสิว และช่วยขจัดสิ่งสกปรกและความมันส่วนเกินไปพร้อมๆ กับการลดการเกิดสิว ลดรอยสิว ผิวชุ่มชื้น เสริมปราการผิวให้แข็งแรง เนื้อโฟมฟองนุ่ม อ่อนโยนต่อผิวเป็นสิว

Eucerin Pro ACNE SOLUTION SOS SERUM เซรั่มสำหรับคนเป็นสิว ที่คอยช่วยเติมความชุ่มชื้น ดูแลปัญหาสิวพร้อมควบคุมความมันส่วนเกินที่จะเกิดขึ้น ทำให้ปัญหาสิวลดลง ลดโอกาสการเกิดสิวซ้ำ ลดแบคทีเรียก่อสิว และดูแลปัญหารอยดำรอยแดงจากสิวได้พร้อมๆ กัน ช่วยจบปัญหาสิวใน 7 วัน ลดการอักเสบของสิวใน 8 ชม.

Eucerin Pro ACNE SOLUTION TRIPLE EFFECT SERUM เซรั่มที่ช่วยลดสิว ลดรอยสิว และคุมมัน สูตรเข้มข้นเนื้อบางเบา ด้วยสารสำคัญอย่าง ไทอามิดอล THIAMIDOL™ สารไบรท์เทนนิ่งประสิทธิภาพดีที่สุดจาก ยูเซอริน ที่ช่วยตัดตอนรอยดำลึกถึงจุดกำเนิด ด้วยกลไกที่สำคัญที่สุด สำหรับลดเลือนจุดด่างดำต่างๆ ให้ดูลดเลือนได้มากถึง 75% และช่วยจบปัญหารอยดำและจุดด่างดำทุกประเภท ปรับให้ผิวดูกระจ่างใสใน 2 สัปดาห์ พร้อมลดโอกาสเกิดรอยสิวซ้ำ และยังมีสาร Salicylic Acid สารสกัดธรรมชาติที่ช่วยผลัดเซลล์ผิวOKอย่างอ่อนโยน ลดรอยดำจากสิวที่ฝังลึก พร้อมปรับสีผิวหมองคล้ำด้วยลิโคชาลโคน เอ และเทคโนโลยี Sebum Regulating ช่วยควบคุมความมันบนใบหน้าอีกด้วย

คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับ สิวฮอร์โมน

ฮอร์โมนและสิวมีผลต่อผู้ชายและผู้หญิงแตกต่างกันหรือไม่

ในช่วงวัยแรกรุ่นระดับฮอร์โมนเทสโทสเทอโรน (Testosterone) ซึ่งจัดเป็นฮอร์โมนเพศชายชนิดหนึ่งจะมีปริมาณเพิ่มขึ้นทั้งในชายและหญิง ในผู้ชายฮอร์โมนเทสโทสเทอโรน ส่งผลต่อการเจริญเติบโตของอวัยวะสืบพันธุ์ ส่วนในผู้หญิงฮอร์โมนนี้จะเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและกระดูก นอกจากนี้ฮอร์โมนเทสโทสเทอโรนยังทำให้เกิดสิว ซึ่งเป็นเหตุผลที่ทำไมสิวฮอร์โมนจึงปะทุออกมามากในช่วงวัยนี้ ดังนั้นในช่วงวัยรุ่นถึง 70% ต้องรับมือกับปัญหาผิวมีแนวโน้มที่จะเกิดสิวฮอร์โมน

อย่างไรก็ตาม ในวัยผู้ใหญ่กว่า 40% (อายุ 25 ปีขึ้นไป) ก็ได้รับผลกระทบจากสิวฮอร์โมนเป็นครั้งคราวเช่นกัน*1 โดย 75-85% เป็นผู้หญิง*2 ความแตกต่างระหว่างระดับฮอร์โมนในผู้ชายและผู้หญิงคือ ในขณะที่ผู้ชายมีฮอร์โมนคงที่มากกว่า แต่ฮอร์โมนในผู้หญิงจะผันผวน โดยมีปัจจัยหลัก 3 ประการ ที่อยู่เบื้องหลังคือ ช่วงที่มีประจำเดือน, การตั้งครรภ์, การหมดประจำเดือน

*1 - Zouboulis, Hautarzt 2014 · 65:733–750.
*2 - Zeichner et al., J Clin Aesthet Dermatolog., 2017; 10 (1): 37-46 and Holzmann, Sharkery, Skin Pharmacol Physiol 2014; 27: 3-8

 

สิวช่วงมีประจำเดือนมีผลกระทบจากฮอร์โมนหรือไม่

ตามการศึกษาทางด้านผิวหนังพบว่า 60% ของผู้หญิงเป็นสิวฮอร์โมนรุนแรงขึ้นใน ช่วงมีประจำเดือน*3 เนื่องจากในช่วงที่มีประจำเดือนระดับฮอร์โมนจะมีโอกาสแปรปรวนมากที่สุด และมีสิวเพิ่มขึ้นเป็นพิเศษในช่วงมีประจำเดือน โดยปกติรอบเดือนมีระยะเวลา 28 วัน (นับจากวันแรกของการมีประจำเดือนและสิ้นสุด 1 วัน ก่อนที่จะมีเลือดประจำเดือนอีกครั้ง) โดยในแต่ละวันระดับฮอร์โมนจะแตกต่างกัน

วันที่ 1 - 14 : ในช่วงนี้ฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่มีหน้าที่กำหนดลักษณะความเป็นหญิงจะมีระดับที่มากกว่าฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone) ส่งผลให้ผิวดูสวย และเปล่งปลั่ง

วันที่ 14 - 28 : ระดับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนเพิ่มสูงขึ้นกว่าเอสโตรเจน เพื่อทำให้เกิดการหนาตัวของผนังมดลูก แต่เมื่อถึงเวลาที่ประจำเดือนมา ทั้งระดับเอสโตรเจน และโปรเจนเตอโรนจะลดต่ำลง ส่งผลให้ผนังมดลูกสลายตัวออกมาเป็นประจำเดือน และทำให้ฮอร์โมนเทสโทสเทอโรนซึ่งเป็นฮอรโมนเพศชายมีอยู่ในปริมาณที่สูงกว่าจึงกระตุ้นการผลิตน้ำมันบนใบหน้า ส่งผลให้เกิดสิวฮอร์โมน

*3 - https://www.webmd.com/skin-problems-and-treatments/acne/features/period#1


สิวฮอร์โมนตอนตั้งครรภ์

สิวในระหว่างตั้งครรภ์เกิดช่วงไหนบ้าง


การตั้งครรภ์เป็นอีกช่วงเวลาที่ฮอร์โมนมีความผันผวนซึ่งอาจทำให้เกิดสิวฮอร์โมนได้
มากกว่าครึ่งหนึ่งของหญิงตั้งครรภ์ประสบปัญหาสิวฮอร์โมนในระหว่างตั้งครรภ์เป็นครั้งคราว*4 คนที่เป็นสิวง่ายมักมีปัญหาสิวจากฮอร์โมนในช่วงตั้งครรภ์ และถึงแม้ว่าผู้หญิงบางคนไม่เคยมีสิวมาก่อนก็อาจจะพบปัญหานี้ครั้งแรกในช่วงตั้งครรภ์*4
ระดับฮอร์โมนที่อยู่ในระดับสูงสุดในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์) โดยมีงานวิจัยกล่าวว่าถ้าหากไม่พบอาการผิดปกติของสิวฮอร์โมนในช่วง 3 เดือนแรก โอกาสในการเกิดสิวฮอร์โมนก็จะค่อนข้างน้อยในช่วงเวลาที่เหลือของการตั้งครรภ์ ในความเป็นจริงแล้วการเป็นสิวฮอร์โมนในระยะตั้งครรภ์สามารถปะทุออกมาทั้งในระหว่างการตั้งครรภ์หรือหลังคลอด ในทางตรงกันข้ามผู้หญิงบางคนที่มีผิวเป็นสิวง่ายยังพบว่าผิวเรียบเนียนขึ้นในระหว่างตั้งครรภ์ก็ได้เช่นกัน

 

รู้หรือไม่

สูตินรีแพทย์ที่ดูแลคุณในระหว่างตั้งครรภ์จะสามารถให้คำแนะนำคุณเกี่ยวกับปัญหาผิวที่คุณอาจมี หรือแนะนำให้พบแพทย์ผิวหนัง สิ่งสำคัญคือคุณควรปรึกษาแพทย์ก่อน รักษาสิวฮอร์โมน ใช้ยา หรือเปลี่ยนอาหารอย่างใดอย่างหนึ่ง เนื่องจากทารกในครรภ์กำลังอยู่ในช่วงพัฒนาอวัยวะสำคัญ จึงต้องการอาหารที่ดีต่อสุขภาพและครบ 5 หมู่ ยารักษาสิวบางชนิด เช่น Isotretinoin (ยาที่ใช้รักษาสิวรุนแรง) ไม่ควรใช้ระหว่างตั้งครรภ์เนื่องจากอาจเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์


*4 - http://www.webmd.com/skin-problems-and-treatments/acne/acne-during-pregnancy-treatments-causes#3

 

เพราะอะไร? หมดประจำเดือนแล้วแต่ยังเป็นสิวอยู่ 


ผู้หญิงหลายคนพบปัญหาผิวขณะเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน เช่น ผิวแห้ง, ผื่น, ผิวไวต่อสิวมากขึ้น และแม้แต่เริ่มเป็นสิว ปัญหาเหล่านี้อาจเกิดจากความผันผวนของฮอร์โมนเช่นเดียวกับการมีสิวประจำเดือนและสิวที่เกิดขึ้นระหว่างตั้งครรภ์ โดยเมื่อเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน ร่างกายของผู้หญิงจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก เนื่องจากฮอร์โมนเพศหญิงอย่างเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนเริ่มผลิตในปริมาณที่น้อยลง ทำให้เกิดอาการต่างๆ ได้แก่ ร้อนวูบวาบ รอบเดือนผิดปกติและปัญหาผิว ผิวหนังสูญเสียความสามารถในการเก็บความชุ่มชื้น และผิวจะใช้เวลานานกว่าในการสร้างใหม่และรักษาตัวเอง ผิวจะบางและยืดหยุ่นน้อยลง และส่งผลให้ผิวบอบบาง แห้งและไวต่อการเกิดสิว ซึ่งหากเรามีวิธีการดูแลและฟื้นบำรุงผิวเป็นอย่างดีก็จะช่วยให้เกราะปกป้องผิวแข็งแรง เป็นการช่วยดูแลปัญหาผิวที่ไม่อาจควบคุมนี้ได้อีกหนึ่งหนทาง

 

สิวฮอร์โมนสามารถหายขาดได้หรือไม่?

คำว่า "หายขาด" อาจไม่ถูกต้องนักสำหรับสิวฮอร์โมน เพราะตราบใดที่ยังมีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน (เช่น รอบเดือน, ความเครียด, อายุที่เปลี่ยนไป) ก็ยังมีโอกาสที่สิวจะกลับมาได้ อย่างไรก็ตาม สิวฮอร์โมนสามารถ "ควบคุม" ให้อยู่ในภาวะสงบได้ดีมากจนแทบไม่มีสิวขึ้นใหม่ ด้วยการรักษาที่เหมาะสมและการดูแลตนเองอย่างต่อเนื่อง

 

ถ้าเป็นสิวฮอร์โมน ควรแต่งหน้าหรือไม่? และมีวิธีเลือกเครื่องสำอางอย่างไร?

สามารถแต่งหน้าได้ แต่ควรเลือกเครื่องสำอางที่ระบุว่า "Non-comedogenic" หรือ "For acne-prone skin" เพื่อลดโอกาสการอุดตัน ควรทำความสะอาดผิวหน้าให้หมดจดทุกครั้งก่อนนอน และให้ผิวได้พักผ่อนบ้างโดยไม่แต่งหน้าในบางวัน

 

สิวฮอร์โมนสามารถกลับมาเป็นซ้ำได้หรือไม่หลังการรักษา?

สามารถกลับมาเป็นซ้ำได้ โดยเฉพาะหากหยุดการรักษาและปัจจัยกระตุ้นยังคงอยู่ (เช่น ความเครียด, การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนตามรอบเดือน) ดังนั้น การดูแลผิวอย่างต่อเนื่องและการใช้ยาทาป้องกัน (maintenance therapy) ตามคำแนะนำของแพทย์จึงมีความสำคัญ

 

สิวฮอร์โมนในผู้ชายเกิดจากอะไรและรักษาต่างจากผู้หญิงไหม?

สิวฮอร์โมนในผู้ชายก็เกิดจากอิทธิพลของฮอร์โมนแอนโดรเจนเช่นกัน โดยเฉพาะในช่วงวัยรุ่นที่ระดับเทสโทสเตอโรนสูงขึ้น หรือในผู้ใหญ่บางรายที่มีปัจจัยทางพันธุกรรมหรือความไวของต่อมไขมันต่อฮอร์โมน การรักษาโดยรวมคล้ายกัน (ยาทา, ยารับประทาน เช่น Isotretinoin ในรายที่รุนแรง) แต่จะไม่ใช้ยาคุมกำเนิดหรือ Spironolactone ซึ่งเป็นการรักษาที่มุ่งเป้าไปที่ฮอร์โมนเพศหญิง


สิวฮอร์โมน จึงไม่ได้เป็นเพียงแค่ปัญหาสิวสำหรับวัยรุ่น สิวประจำเดือน หรือสิวที่เกิดขึ้นระหว่างการตั้งครรภ์เท่านั้น แต่พฤติกรรมบางอย่างในชีวิตประจำวันก็เป็นสิ่งที่กระตุ้นให้ระดับฮอร์โมนเกิดการแปรปรวนได้เช่นกัน เมื่อเราไม่สามารถที่จะควบคุมฮอร์โมนในร่างกายได้ แต่เราสามารถหลีกเลี่ยงความเครียด อาหาร หรือปัจจัยกระตุ้นที่ทำให้ฮอร์โมนไม่สมดุล และหมั่นดูแลผิวหน้าอย่างสม่ำเสมอ ไปจนถึงการเลือกผลิตภัณฑ์รักษาสิวให้เหมาะสม และการรักษาความสะอาดที่เป็นหัวใจหลักของการดูแลรักษาสิวฮอร์โมนและสิวอักเสบขั้นพื้นฐานที่ไม่ว่าใครก็ทำตามได้ง่ายๆ


ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง